ให้เหล้า เท่ากับ แช่ง ?
“การรณรงค์ และ / หรือ กุศโลบาย การลดปัญหา จากการดื่มแอลกอฮอล์ … ของสหราชอาณาจักร”
ช่วงปีใหม่ใกล้มาถึง … หลายคน คงจะได้ยินการรณรงค์ ” ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ” จาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth ซึ่งเห็นว่า ทำมาร่วม 10 ปีแล้ววววว และมีข้อมูลว่า โครงการนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก
ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ที่ประเทศอังกฤษ หรือ ประเทศแถบตะวันตก เวลาไปงานเลี้ยงปีใหม่บ้านใคร ส่วนมาก คนที่ไปร่วมงาน ก็จะถือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า ไวน์ หรือ เบียร์ ติดไม้ติดมือ ไปร่วมงาน หรือ เอาไปให้เป็นของขวัญ พอช่วงนี้ มาเห็นการรณรงค์ของไทย ” ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ” บ่อยๆ จึงทำให้เกิดคำถาม กับตัวเองว่า ทำไม การรณรงค์ที่ไท๊ยไทยนี้ ไม่เกิดขึ้น ที่ประเทศตะวันตกบ้าง เพราะคนที่นี่ มีการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อหัว เยอะกว่าคนไทยแน่ๆ ข้อมูลล่าสุด คือ Belarus มี การบริโภคแอลกอฮอล (์เพียวๆ) เยอะที่สุดที่ 17.5 ลิตรต่อหัว ประเทศอังกฤษ อยู่ที่ 12.0 ลิตรต่อหัว ส่วนไทย อยู่ที่ 8.3 ลิตรต่อหัว ซึ่งความต่างของจำนวนการดื่มมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น จึงทำให้ไปหาข้อมูลดูต่อว่า ที่ประเทศอังกฤษ เค้ามีการรณรงค์แนวนี้มั๊ย …
กุศโลบาย จำกัดปริมาณ การบริโภคแอลกอฮอล์ ในประเทศอังกฤษ
ถึงแม้ประเทศอังกฤษ เค้าจะไม่มี ” ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” แต่เค้าก็มีการรณรงค์ การดื่มแบบมีความรับผิดชอบ (responsible drinking / drink responsibly) และมีกุศโลบายต่างๆ ในการช่วยกำหนดหรือจำกัดปริมาณการดื่ม เช่น…
การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
🍺 เมื่อเร็วนี้ ศาลสูงสุดของอังกฤษได้เห็นชอบ กฎหมายจากรัฐบาลสก็อตแลนด์เรื่องการกำหนดราคาขั้นต่ำการขายแอลกอฮอล์ต่อหน่วย จริงๆกฎนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2012 แล้วแต่มีการคัดค้านจาก Scotch Whisky Association (SWA) เรื่องเลยติดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจากศาล….
ตอนนี้ได้รับการอนุมัติแล้ว และสก็อตแลนด์จะเป็นประเทศแรกที่กำหนดราคาขั้นต่ำของแอลกอฮอล์ต่อหน่วย กฎนี้มุ่งเป้าที่จะเพิ่มราคาของเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์สูงแค่ราคาต่ำ โดยทางรัฐคาดหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยลดปริมาณการดื่มที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ดื่มได้
ทั้งนี้มีกำหนดราคาขายขั้นต่ำตามสมการ [ราคาขั้นต่ำต่อหน่วยที่รัฐบาลกำหนด * %แอลกอฮอล์ * ปริมาตรเป็นหน่วยลิตร]
เช่น เบียร์ 4% ขนาด 1 ไพน์ (0.568 litre) ถ้าราคาขั้นต่ำอยู่ที่ £0.5 (อิงตามวิจัยจากมหาวิทยาลัย Sheffield ว่าราคานี้จะไม่กระทบอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์) เบียร์นี้ก็ควรขายขั้นต่ำ ที่ 0.5*4*0.568 = £1.136 เป็นต้น จริงๆ แล้วมาตรการนี้จะไม่ค่อยกระทบคนที่ดื่มเพื่อเข้าสังคม หรือนานๆดื่มที่… แต่จะกระทบพวกที่ดื่มหัวราน้ำ หรือเสพติดแอลกอฮอล์
การกำหนดหน่วยการบริโภคแอลกอฮอล์
🍺 การกำหนดหน่วยการดื่ม เพื่อให้ผู้ดื่มพึงระวังจำนวนแอลกอฮอล์ที่ได้บริโภคเข้าไป เช่น ที่นี่จะแนะนำว่าไม่ควรดื่มเกิน 14 หน่วยต่ออาทิตย์ (และควรกระจายการดื่ม 14 หน่วยนั้นในช่วง 3 วัน หรือมากกว่า) … เบียร์ 1 ไพน์จะเท่ากับประมาณ 2.3 หน่วย เพราะงั้น 14 หน่วยจะเท่ากับประมาณ 6 ไพน์
เพราะเวลาเราดื่มมันๆ เราไม่รู้ว่าแค่ไหนคือมาก แค่ไหนคือต้องพอ ไอ้เจ้าหน่วยวัดนี้อาจจะไม่ได้ทำให้เราหยุดทันที แต่ทำให้เรารู้คร่าวๆ ว่าชั้นซัดแอลกอฮอล์ไปเท่าไหร่แล้ว
ที่ประเทศอังกฤษจะต่างกับประเทศไทยโดยจะเน้นแนวนโยบาย มาตรการ และการให้ความรู้…ในขณะที่ประเทศไทยจัดการกับเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ แนวหยุดยั้ง ขัดขวาง ห้ามปราม แบบไม่ควรให้เหล้าเป็นของขวัญเอย หรือไม่ควรขายเหล้าแถวๆ สถานศึกษาเอย … เราควรมีมาตรการการจัดการแนวให้ความรู้, ข้อมูล, เหตุผล และปลูกจิตสำนึก เกี่ยวกับการรับผิดชอบการดื่มแอลกอฮอล์ ดีกว่ามั้ย? เพราะบางทีห้ามไปก็เท่านั้น และหลายๆทียิ่งห้ามก็ยิ่งอยากทำ สู้ให้ความรู้ปลูกผังจิตสำนึกแล้วให้ไปติดต่อกันดีกว่า?
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
What happens when the state sets booze prices—Scotland wants to find out
https://data.worldbank.org/indicator/SH.ALC.PCAP.LI?view=chart
http://www.bbc.co.uk/news/uk-scotland-41981909
ฝากติดตามเพจ “จาร์ยไทยในดงผู้ดี” ด้วยนะคะ