ในวันที่ 19 มีนาคม 2019 BBC UK ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแฟชั่นดีไซน์เนอร์รายย่อย ที่ถูกแบรนด์แฟชั่นใหญ่ๆ โดยเฉพาะพวก Fast Fashion แบรนด์ คัดลอกงาน ในวิดีโอเรื่อง Fashion rip-offs: Independent designers ‘copied’ by high street ซึ่งประเด็นที่ยกมานี้ ใกล้เคียงกับประเด็นหัวข้อวิจัยที่เราตั้งไว้ เรื่อง The paradox of fashion design plagiarism and accountability of fast fashion retailers ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Lloyds Banking Group Centre for Responsible Business ในฐานะ Responsible Business Award Academic
คัดลอกโต้งๆ หรือได้รับแรงบันดาลใจ
ในโครงการวิจัยนี้เรามองถึงปัญหาการคัดลอก หรือการนำเอาดีไซน์จากแบรนด์หนึ่ง มาใช้เป็นสินค้าของแบรนด์หนึ่ง ซึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ ทางอุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจให้ความเห็นว่า การทำแบบนั้นในวงการแฟชั่น บางทีเป็นการ “inspired” มากกว่า “copied” … อีกทั้งสินค้าแฟชั่นส่วนใหญ่ ยังถือเป็นสินค้าอุปโภค ทำให้การจดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
ประเด็นนี้จึงมาเป็นคำถามว่า … การเอาดีไซน์ของคนอื่นมา ถึงแม้มันไม่ผิดกฎหมาย แต่มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (ethical) หรือพึงกระทำหรือไม่ … โปรเจคที่เราสนใจจึงมุ่งดูเรื่อง บรรทัดฐาน (norm) และการยอมรับการนำคัดลอกผลงาน บวกกับดูเรื่องความรับผิดชอบ (accountability) ของธุรกิจที่ถูกกล่าวหาว่าคัดลองผลงานของผู้อื่นไป ว่าทางธุรกิจมีมาตรการแก้ไขหรือตอบโต้อย่างไร … และมุ่งที่จะเข้าใจความเกี่ยวพันระหว่างกฎหมาย, บรรทัดฐาน, ตลาด, และความคิดสร้างสรรค์ ด้วย
ทั้งนี้ อีกประเด็นนึงที่ตามมาจากการคัดลอกงานกันแบบนี้คือ การที่กระตุ้นความต้องการ และสนับสนุนการซื้อเสื้อผ้าของคนแบบไม่จบสิ้น เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นอุสาหรกรรมใหญ่อันหนึ่งที่ทำให้เกิดขยะ และการปล่อยก๊าซพิษมากมาย … บรรทัดฐานที่ว่า เราต้องมี Next new things หรือ #ของมันต้องมี อยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการยอมรับของการคัดลอกดีไซน์ เพื่อให้การผลิตออกมาเร็วที่สุด
วงจรธุรกิจของ Fast Fashion
ปัญหาจากอุสาหกรรม และธุรกิจแนวนี้ดูเหมือนจะเป็นวงจรชั่วร้ายที่ไม่จบสิ้น … เพราะ
1. ธุรกิจผลิตสินค้าราคาถูกตามกระแส สร้างความต้องการสินค้าแฟชั่นใหม่ๆ (next new things หรือ #ของมันต้องมี) ตลอดเวลา
2. ผู้บริโภคต้องการ และชื่นชอบเสื้อผ้่าราคาถูกเพื่อที่จะได้ซื้อซ้ำและเปลี่ยนบ่อยๆ
3. เกิดการแข่งขันทางราคาและการงัดสินค้าใหม่ๆ ออกมาให้ได้มากที่สุด
4. กระทบต่อต้นทุนการจ้างแรงงาน และคุณภาพ/ความคงทนของสินค้าแฟชั่น
5. สินค้าแฟชั่นเสื่อมสภาพง่าย และตกเทรนด์ง่ายทำให้เกิด “throwaway culture” หรือวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง … แล้ววนกลับไปที่ 1.
ผลกระทบของอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ส.ส.อังกฤษ ชื่อ Mary Creagh ซึ่งเป็น ประธานคณะกรรมการของ the Environmental Audit Committee ออกมากล่าวว่า การบริโภคสินค้าแฟชั่น ไม่ควรต้องแลกมาด้วยความเสื่อมของโลก แต่ในขณะนี้ที่พวกเราดีไซน์, ผลิต และทิ้งเสื้อผ้าส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะฉะนั้น ทางคณะกรรมการดังกล่าวจึงเสนอให้ Fast Fashion แบรนด์ เข้ามาให้การ และแสดงข้อมูลต่อรัฐสภา [อ่านเพิ่มเติม]
ถ้ามองในแง่ธุรกิจและกำไรทางการเงิน และวัฒนธรรมการบริโภคสินค้าแฟชั่น การบริโภคและการคัดลอกดีไซน์ (ในหลายๆ กรณี) อาจจะไม่ผิดอะไร แต่ถ้ามองผลกระทบให้ลึกกว่านั่น ผลกระทบต่อแรงงาน / บุคคล / ธุรกิจขนาดย่อมที่ถูกเอาเปรียบ และธรรมชาติที่ถูกทำลายนั้นมากมายนัก … ต้องลองเทียบว่า ประโยชน์จากกำไรทางการเงิน และวัฒนธรรมการบริโภคของใหม่ๆถูกๆ มันมากกว่าผลเสียที่เกิดกับสังคม และสิ่งแวดล้อมหรือไม่